สถาบันยานยนต์ (สยย.) และ สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องมาตรฐานการทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าของไทย จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
ทางวิชาการด้านการศึกษามาตรฐานการทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า
ระหว่างนายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อการศึกษามาตรฐานการทดสอบด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นผลจากองค์ความรู้ของหน่วยงานทั้งสองที่จะนำมาใช้ในห้องปฏิบัติการทดสอบได้จริงในอนาคต
เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งด้านการลงทุน การสร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างงาน และสนับสนุนการเติบโตสู่อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยมุ่งเน้นพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่าง สยย. กับ สวทช. ด้วยการจัดให้มีการบรรยายทางวิชาการ การจัดฝึกอบรม การศึกษาดูงานในหัวข้อและโอกาสที่เหมาะสม จัดทำโครงการศึกษาโดยเน้นกิจกรรมที่ส่งผลเป็นรูปธรรมลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงในรูปแบบต่างๆ เช่น การทดสอบ การสอบเทียบเครื่องมือวัดตลอดจนการใช้ทรัพยากรในรูปแบบที่ สยย. กับ สวทช. เห็นชอบร่วมกัน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านมาตรฐานการทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า
รวมทั้งยังมีการร่วมกันดำเนินงานด้านวิชาการในรูปแบบต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ แก่ทั้งสองฝ่าย ร่วมกันจัดหาและสนับสนุนทรัพยากร เช่น บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สำหรับใช้ในการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลง มีการแลกเปลี่ยน และเสริมสร้างความรู้ประสบการณ์และข้อมูลทางวิชาการรวมทั้งจัดฝึกอบรมและสัมมนาระหว่างบุคลากรทั้งสองฝ่าย เพื่อพัฒนาบุคลากรของทั้งสองฝ่าย และยังส่งเสริมความสัมพันธ์ในการพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกันอีกด้วย โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษามาตรฐานการทดสอบยานยนต์ไฟฟ้านี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ถึง วันที่ 1 เมษายน 2567
สยย. และ สวทช. คาดว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ทำไปสู่การพัฒนามาตรฐานการทดสอบ
ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจในด้านคุณภาพและคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าไทย และสามารถสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันอุตสาหกรรมยายนต์ไทยในอนาคตอีกด้วย